ตำราเรียน ของ ซิดนีย์ เหล่า

เหล่าเขียนชุดตำราเรียนในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1970 เพื่อสอนผู้พูดภาษาอังกฤษให้พูดภาษากวางตุ้งได้ ในตอนแรกชุดตำรานี้ใช้เพื่อสอนชาวตะวันตกที่ย้ายภูมิลำเนามาทำงานในกองกำลังตำรวจฮ่องกงและหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ[2] ต่อมาได้นำชุดตำรานี้มาใช้เป็นหลักในการสอนในรายการวิทยุสำหรับชาวต่างชาติ

หนังสือที่เหล่าเขียนได้แนะนำระบบถอดเป็นอักษรโรมันของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากระบบเยลที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และระบบอื่นก่อนหน้านี้อีก 9 ระบบ ตรงที่ระบบนี้จะใช้ตัวเลขเป็นตัวยกเพื่อระบุเสียงวรรณยุกต์ โดยวิธีการนี้ได้ถูกลอกเลียนแบบในอีก 16 ปีต่อมาโดยผู้คิดค้นระบบยฺหวิดเพ็ง ซึ่งใช้กันน้อยแต่เป็นที่นิยมในทางวิชาการ ในฮ่องกงมีอีกระบบที่ใช้กันโดยทั่วไปรองจากระบบของเหล่าและระบบเยล คือ ระบบรัฐบาลฮ่องกง หรือระบบการถอดเป็นอักษรโรมันมาตรฐาน (Standard Romanisation) ที่พัฒนาโดยเจมส์ ไดเออร์ บอล (James Dyer Ball) และแอ็นสท์ โยฮันน์ ไอเทิล (Ernst Johann Eitel) ซึ่งระบบของเหล่ามีรากฐานมาจากระบบนี้เป็นส่วนมาก[3]

พจนานุกรมของเหล่าซึ่งมีชื่อว่า A Practical Cantonese-English Dictionary มีคำศัพท์ภาษากวางตุ้ง 22,000 รายการ จัดพิมพ์โดยรัฐบาลฮ่องกงในปี 1977[4] และได้รับคำวิจารณ์อยู่ในเกณฑ์ดีโดย Dew ในวารสารภาษาศาสตร์จีน (Journal of Chinese Linguistics)[5]